เลือกซื้อโรงงานมือหนึ่ง หรือมือสองดี…?? ฉบับเจ้าของกิจการมือใหม่ ตอนที่2

เนื่องจากข้อเสียจากการซื้อโรงงานใหม่หรือมือหนึ่งที่ไกล และอาจจะดูแพง เจ้าของกิจการหลายๆคนจึงมองหาโรงงานมือสองใกล้บ้านราคาถูกแทน เพราะโรงงานมือสองนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งชุมชน ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ใกล้ลูกค้า ใกล้บ้าน หาคนงาน ของกินง่าย ใกล้โรงเรียนลูก สุดแล้วแต่ลูกค้าที่จะต้องการ ถ้าเทียบกับขนาดที่ดินและตัวอาคาร ถึงจะแพงกว่ามือหนึ่งสร้างใหม่ก็เหอะ ยอมซื้อแพงกว่า ก็เป็นเพราะเรื่องของทำเลล้วนๆ เลยครับ ทีนี้สิ่งที่ต้องควรพึงระวังในการซื้อโรงงานมือสองนั้นมีอะไรบ้างนั้น

ในส่วนของทำเล หรือที่ตั้งของโรงงานที่เราหมายปอง ก็ต้องดูเรื่องความกว้างของถนนทางเข้า-ออก กิจการเราต้องใช้รถเทรลเลอร์บ่อยมั้ย ส่วนใหญ่โรงงานมือสองในเมือง ถนนจะแคบ!! เข้าออกซอกซอยลำบาก  ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.2 หรือรง.4)ทางโรงงานนั้นได้ขอไว้หรือขาดต่อหรือเปล่า ถ้ากิจการเราไม่ได้ใช้ใบนี้ ก็ข้ามไปเลย แต่ส่วนใหญ่จะใช้สินะครับ เพราะเราซื้อมาผลิตสินค้า ไม่ใช่ซื้อมาเก็บเป็นโกดัง หรือคลังสินค้า ถ้าโรงงานมือสองที่เราจะซื้อนั้นไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สามารถทำเรื่องขอใหม่ได้หรือไม่ โรงงานนั้นตั้งอยู่ผังเมืองสีอะไร ทางเขตเทศบาลตำบล สำนักงานโรงงานท้องถิ่น ให้ทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งผมจะเขียนบทความในเรื่องผังเมืองต่อไปนะครับ

ใบอนุญาต อ.1 ออกถูกต้องหรือไม่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นอะไร ชื่อเจ้าของโรงงาน กับเจ้าของที่ดินตรงกันหรือไม่ ต้องประกาศขายก่อนโอนหรือเปล่า ส่วนในเรื่องของโฉนด ถนนหน้าโรงงานจดภาระจำยอมแล้วหรือยัง เป็นถนนสาธารณะหรือไม่ ต้องยอมรับเอกสารพวกนี้จุกจิกและรายละเอียดเยอะ เจ้าของกิจการหลายๆคนถึงต้องมีฝ่ายกฎหมายหรือทนายมาช่วยดูผลประโยชน์ตรงนี้ให้

จบในเรื่องของเอกสารแล้ว ต้องดูอะไรต่อล่ะ โครงสร้างอาคารโรงงาน ต้องยอมรับอย่างหนึ่ง โรงงานมือสองส่วนใหญ่จะโทรม เพราะผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก หลักๆดูเสาเข็มร้าวมั้ย ส่วนพวกพื้นโรงงานที่ต้องรับน้ำหนักเครื่องจักร ต้องรับตามสภาพ เพราะหลายๆที่ ต้องรื้อทำใหม่ ต้องซ่อมทำใหม่ ทำเยอะมั้ย บางคนเอาช่างหรือผู้รับเหมาเข้าไปช่วยดูด้วย ซ่อมราคาเท่าไหร่ แล้วควรจะซื้อมือสองราคาเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับมือหนึ่ง ซ่อมเสร็จคุ้มค่าต่อการใช้งานระยะยาวไหม โรงงานมือสองส่วนใหญ่จะเดินไฟ 3 เฟส พร้อมแถมหม้อแปลงให้แล้ว หรือมีบ้านพักคนงานพร้อมให้ ซึ่งเราไม่ต้องเสียเวลาจ้างช่างทำในส่วนนี้ อาจจะซ่อมนิดหน่อยก็ต้องดูตามหน้างาน

จบเรื่องโครงสร้างแล้ว ดูอะไรต่อ ดูว่าโรงงานมือสองที่เราจะซื้อนั้น ยังผลิตหรือประกอบกิจการอยู่หรือเปล่า ลูกน้องเจ้าของเดิมรู้หรือยังว่า โรงงานนี้จะขาย!! ถ้าเป็นโรงงานเปล่าๆว่างๆ ก็ง่ายเลย โอนกรรมสิทธิ์เสร็จ เข้าใช้ประโยชน์ได้เลย แต่ถ้าโรงงานยังมีคนอยู่ ตอนทำสัญญาจะซื้อจะขาย ต้องคุยกับเจ้าของเดิมให้ชัดเจนนะครับ ว่าจะออกภายในกี่วัน หลังจากวางมัดจำ หรือหลังโอนเสร็จ ไม่งั้นคงปวดหัวกับเรื่องฟ้องร้องอีกในภายหลัง

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับการหาเลือกซื้อโรงงานมือหนึ่ง-มือสอง ข้อดีข้อเสีย พอจะนึกภาพออกแล้วสินะครับ ถ้าอยากสบายๆง่ายๆ ก็โรงงานมือหนึ่งซื้อกับโครงการหรือกับผม (ฮา) ถ้าไม่อยากยุ่งยากกับการซื้อโรงงานมือสองก็ซื้อกับผมอีกนั่นแหล่ะ (ฮาๆๆๆ) จริงๆยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผมยังไม่เขียน ที่ผมเขียนมันคือเรื่องทั่วๆไป แต่ถ้าเป็นโรงงานเฉพาะทาง เช่น โรงงานอาหารที่ต้องของอย. หรือ GMP , ห้องเย็นมือสอง, โรงงานบำบัดน้ำเสีย, โรงงานมือสองที่ต้องใบอนุญาตเฉพาะกิจการเป็นรายๆ ผมยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ ไว้จะกล่าวถึงในบทความอื่นๆถัดไปนะครับ